ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู




ประวัติความเป็นมา

 ศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสนาดั้งเดิมของชนเผ่าอารยัน หรือพวกอริยกะซึ่งเป็นชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเอเชียกลาง ต่อมาชาวอารยันกลุ่มหนึ่งอพยพไปทางยุโรป แล้วกลายเป็นชาวยุโรปปัจจุบัน ส่วนอีกพวกหนึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในอิหร่าน และอีกพวกหนึ่งเข้าไปในอินเดีย รบชนะชาวพื้นเมือง(พวกมิลักขะ) ยึดครองอินเดีย พวกอารยันที่เข้ายึดครองอินเดียเป็นชนเผ่าที่มีความรู้ ความฉลาดหลักแหลม ทั้งพวกอริยกะและพวกมิลักขะต่างมีวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนาของตนอยู่ก่อน กล่าวคือ พวกมิลักขะนับถือธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม โดยเชื่อว่ามีเทพเจ้าประจำอยู่ในธรรมชาติ ส่วนพวกอริยกะก็นับถือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ ธรรมชาติที่พวกอริยกะนับถือ ได้แก่ เทพเจ้า 4 องค๋ ต่อไปนี้

1. พระอินทร์ เทพผู้บันดาลให้เกิดสรรพสิ่งในโลก
2. พระสาวิตรี เทพผู้ให้ความร้อนและแสงสว่าง
3. พระวรุณ เทพผู้ให้ความเย็นและความชุ่มชื้น
4. พระยม เทพผู้ทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ เมื่อพวกอริยกะและพวกมิลักขะอยู่ด้วยกันอย่างสันติโดยพวกอริยกะเป็นผู้ปกครองแล้วได้ปรับเทพเจ้าของตนให้เข้ากับเทพเจ้าของชาวเมือง(มิลักขะ) แต่เห็นว่าชาวพื้นเมืองนิยมการบูชาไฟจึงสร้างเทพเจ้าองค์ใหม่ให้ชาวพื้นเมือง ชื่อว่า "เทพเจ้าอัคนี" แต่ให้เทพอัคนีอยู่ในฐานะเป็นเทพบริวารของเทพทั้ง 4 ของพวกตน พวกมิลักขะก็ยอมรับด้วยดี

ศาสดา 

 ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ไม่มีศาสดาจริงจังเหมือนศาสนาอื่น แต่มีหัวหน้าลัทธิหรือผู้แต่งตำรา ทำหน้าที่คล้ายศาสดา มีดังนี้
1. วยาสะ ท่านผู้นี้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์พระเวท คัมภีร์อิติหาสะ และคัมภีร์ปุราณะ
2. วาลฆีกิ เป็นฤษีผู้แต่งมหากาพย์รามายณะ ท่านเป็นพราหมณ์โดยกำเนิด แต่ถูกพ่อแม่ทิ้งตั้งแต่ยังเล็กพวกชาวนาได้นำไปเลี้ยงไว้
3. โคตมะหรือเคาตมะ ผู้ตั้งลัทธินยายะ เกิดประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ.
4. กณาทะ ผู้ตั้งลัทธิไวฌศษิกะ เกิดประมาณศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ.
5. กปิละ ผู้ตั้งลัทธิสางขยะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.
6. ปตัญชลิ ผู้ตั้งลัทธิโยคะ เกิดในสมัยศตวรรษที่ 3 หรือ 4 ก่อน ค.ศ.
7. ไชมินิ ผู้ตั้งลัทธิมีมางสา หรือปูรวมีมางสา เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.
8. มนู หรือ มนุ ผู้แต่งคัมภีร์ธรรมศาสตร์ เกิดในศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.
9. พาทรายณะ ผู้ตั้งลัทธิเวทานตะ หรือ อุตรมีมางสา มีผู้กล่าวว่าเป็นคนเดียวกับวยาสะ เกิดระหว่างศตวรรษที่ 6-2 ก่อน ค.ศ.
10. จารวากะ ผู้ตั้งลัทธิโลกายนะ หรือวัตถุนิยม ไม่มีประวัติแน่นอน
11. ศังกราจารย์ ผู้แต่งอรรถกถา หรือคำอธิบายลัทธิเวทานตะ เกิดระหว่างปี ค.ศ. 788-820 และเป็นผู้ตั้งลัทธิอไทวตะ หรือเอกนิยม คือ นิยมพระเจ้าองค์เดียว
12. นาถมุนี เป็นผู้นำคนแรกของลัทธิไวษณวะ อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 824-924
13. รามานุชาจารย์ ถือว่าเป็นคนสำคัญยิ่งของลัทธิไวษณวะ และเจ้าของปรัชญาวิศิษฏาทไวตะ เกิดปี ค.ศ. 1027
14. มัธวาจารย์ เป็นผู้นำท่านหนึ่งแห่งลัทธิไวษณวะ และเจ้าของปรัชญาทไวตะ หรือ ทวินิยม อยู่ในช่วงระหว่าง 1199-1277
15. ลกุลีศะ (สมัยของท่านนี้ยังไม่แน่นอน) เป็นอาจารย์ใหญ่แห่งนิกายไศวะ ฝ่ายใต้ผู้ตั้งนิกายปศุปตะ
16. วสุคุปตะ เป็นผู้ตั้งลัทธิไศวะฝ่ายเหนือหรือที่เรียกว่า กาษปีรไศวะ (อยู่ระหว่างศตวรรษที่ 9 แห่ง ค.ศ.)
17. รามโมหัน รอย เป็นผู้ตั้งพรหมสมาช(สมาคม) อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1774-1833
18. สวามีทะยานัน สรัสวดี เป็นผู้ตั้งอารยสมาช อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1824-1833
19. รามกฤษณะ เป็นผู้นำทางความรู้และทางปฏิบัติ เป็นผู้จัดให้มีกระบวนการรามกฤษณะมิชชัน แม้ท่านจะไม่ได้ตั้งขึ้นเอง แต่สวามีวิเวกานันทะ สรัสวดี ก็ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครื่องอนุสรณ์ถึงท่าน อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1836-1886

คัมภีร์

คัมภีร์พระเวท มี 3 คัมภีร์ เรียกว่า "ไตรเวท" คือ 1. ฤคเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทสวดสดุดีพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย บรรดาเทพเจ้าที่ปรากฎในฤคเวทสัมหิตามีจำนวน 33 องค์ ทั้ง 33 องค์ ได้จัดแบ่งตามลักษณะของที่อยู่เป็น 3 กลุ่ม คือ เทพเจ้าที่อยู่ในสวรรค์ เทพเจ้าที่อยู่ในอากาศ และเทพเจ้าที่อยู่ในโลกมนุษย์ มีจำนวนกลุ่มละ 11 องค์
2. ยชุรเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยสูตรสำหรับใช้ในการประกอบยัญพิธียชุเวทสัมหิตา แบ่งออกเป็น 2 แขนง คือ
ก. ศุกลชุรเวท หรือ ยชุรเวทขาว ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์ หรือคำสวดและสูตรที่ต้องสวด
ข. กฤษณยชุรเวท หรือ ยชุรเวทดำ ได้แก่ ยชุรเวทที่บรรจุมนต์และคำแนะนำเกี่ยวกับการประกอบยัญพิธีบวงสรวง ตลอดทั้งคำอธิบายในการประกอบพิธีอีกด้วย
3. สามเวท เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์อันเป็นบทสวดขับร้อง บทสวดในสามเวทสัมหิตามีจำนวน 1,549 บท ในจำนวนนี้มีเพียง 75 บท ที่มิได้ปรากฏในฤคเวท
ส่วนอถรวเวท หรือที่เรียกกันว่า อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมบทประพันธ์ที่ว่าด้วยมนต์หรือคาถาต่างๆ

หลักธรรม

 หลักธรรมคำสอนสำคัญของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีอยู่ 3 ข้อ ต่อไปนี้
1. อาศรม หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งชาวงของการไว้ชีวิตไว้ 4 ตอน ตอนละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม(วัย) อาศรมทั้ง 4 ช่วง มีดังนี้
อาศรมที่ 1 (ปฐมวัย) เรียกว่า พรหมจรยอาศรม เริ่มตั้งแต่อายุ 8-25 ปี ผู้เข้าสู่อาศรมนี้เรียกว่า พรหมจารี
อาศรมที่ 2 (มัชฌิมวัย) เรียกว่า "คฤหัสถาศรม" อยู่ในช่วงอายุ 25-50 ปี
อาศรมที่ 3 (ปัจฉิมวัย) เรียกว่า "วานปรัสถาศรม" อยู่ในช่วงอายุ 50-75 ปี
อาศรมที่ 4 คือ สันยัสตาศรม อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ปรารถนาความหลุดพ้น(โมกษะ) จะออกบวชเป็น "สันยาสี" เมื่อบวชแล้วจะสึกไม่ได้
2. ปรมาตมัน หมายถึง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก ได้แก่ "พรหม" ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะดังนี้
2.1 เกิดขึ้นเอง
2.2 เป็นนามธรรม สิงสถิตอยู่ในสิ่งทั้งหลาย และเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา
2.3 เป็นศูนย์รวมแห่งวิญญาณทั้งปวง
2.4 สรรพสิ่งล้วนแยกออกมาจากพรหม
2.5 เป็นตัวความจริง (สัจธรรม) สิ่งเดียว
2.6 เป็นผู้ประทานญาณ ความคิด และความสันติ
2.7 เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาล
วิญญาณทั้งหมดเป็นส่วนที่แยกออกมาจากปรมาตมัน วิญญาณย่อยเหล่านี้เมื่อแยกออกมาแล้ว ก็เข้าจุติในชีวิตรูปแบบต่างๆ เช่น เทวดา มนุษย์ สัตว์ และพืช มีสภาพดีบ้าง เลวบ้าง ตามแต่พรหมจะลิขิต
3. โมกษะ ถือว่าเป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาฮินดูสอนว่า "ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากสังสาระการเวียนว่าย ตาย เกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีก"

นิกาย

 1. นิกายไวษณพ เชื่อในการอวตารของพระนารายณ์ว่า พระนารายณ์อวตาร 24 ครั้ง เพื่อช่วยมนุษย์โลกในคราวทุกข์เข็ญนิกายนี้เคารพบูชาพระรามพระกฤษณะรวมทั้งหณุมาน และพระพุทธเจ้าโดยอ้างว่าเป็นอวตารปางที่ 9 ของพระนารายณ์ นิกายนี้ไม่เน้นพิธีกรรมเรียกตนเองว่าศาสนาฮินดูเคารพบูชาเทพเจ้าต่างๆและถือคตินิยมสร้างเทวรูปไว้บูชาแบบพหุนิยม
2. นิกายไศวะ เชื่อในพระศิวะและมีความหวังว่าในอนาคตพระศิวะจะอวตารลงมาเป็นบุรุษชื่อลกุลิศะ เพื่อโปรดปรานมนุษย์และสอนมนุษย์ถึงวิธีเข้าถึงพระศิวะ นิกายนี้ประพฤติตนตามแบบลัทธิอัตตกิลมถานุโยค ใช้ขี้เถ้าทาตามร่างกายและทำเครื่องหมายที่หน้าผากด้วยขีด 3 ขีด เรียกสีหาสันทร์

พิธีกรรม ข้อปฏิบัติในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีทั้งที่เป็นส่วนเฉพาะและส่วนรวมต้องประพฤติปฏิบัติตามกฏประเพณีที่ทำไว้สำหรับวรรณะของตนนั้น แบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ
1. กฎสำหรับวรรณะ ที่เกี่ยวกับการแต่งงาน อาหารการกิน อาชีพ และเคหสถานที่อยู่
2. พิธีประจำวัน ชาวฮินดูต้องทำพิธีกรรมประจำบ้านที่ขาดไม่ได้ การทำพิธีต้องอาศัยพราหมณ์ นักบวชเป็นผู้ทำเรียกว่า พิธีสังสการ เป็นพิธีประจำบ้านมี 12 ประการ
3. พิธีศราทธ์ ได้แก่ พิธีของผู้มีศรัทธาคือมีใจเชื่อมั่นเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่บิดา มารดา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในเดือน 10 ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ การทำบุญอุทิศนั้น เรียกอีกอย่างว่า ทำบิณฑะ
4. บูชาเทวดา การทำพิธีบูชานี้ต่างกันไปตามวรรณะ ถ้าวรรณะสูงพอจะกำหนดลงได้ เช่น สวดมนต์ภาวนา อาบน้ำชำระกายและสังเวยคงคาทุกวัน พิธีสมโภชน์ถือศีลในวันศักดิ์สิทธิ์และไปนมัสการบำเพ็ญกุศลในเทวาลัย ถ้าวรรณะต่ำก็มีพิธีผิดแผกแตกต่างกันออกไป

สัญลักษณ์

 ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ใช้เครื่องหมายอักษรเทวนาครี เขียนว่า "โอม" เป็นสัญลักษณ์ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าทั้ง 3 คือ อักษร อุ หมายถึง พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ อะ หมายถึง พระศิวะ หรือพระอิศวร มะ หมายถึง พระพรหม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ตรีมูรติ
เนื่องจากศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม สัญลักษณ์ในศาสนาจึงเป็นการสื่อถึงเทพต่างๆ นอกจากจะมีสัญลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว ยังนิยมสร้างสัญลักษณะและเครื่องหมายไว้บนหน้าผาก หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย นิกายไวษณพ ซึ่งนับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ทำเครื่องหมายอักษรโอม ไว้บนหน้าผาก เหนือระหว่างคิ้ว ส่วนนิกายไศวะ ที่นับถือพระศิวะ ทำเครื่องหมายเส้นตรง 3 เส้น ซ้อนกัน ไว้บนหน้าผากเครื่องหมายนี้ทำด้วยกระแจะจันทร์บ้าง ผงหรือขี้เถ้าวิเศษบ้าง สีขาวก็มี สีแดงก็มี เรียกว่า สีหาสันทน์ แปลว่า ที่นั่งของสีหะคือมหาเทพที่ตนนับถือ

cr.https://sites.google.com/site/ps2003thailand/sasna-hindu
cr.https://sites.google.com/site/yamyeecnk/3-neuxha-bth-reiyn/neuxha-thi4
cr.https://www.youtube.com/watch?v=I0Q5PJxHXgQ



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม