Buddhism ศาสนาพุทธ

Buddhism ศาสนาพุทธ



        ประวัติความเป็นมา
 พุทธศาสนาอุบัติขึ้นในขณะที่ศาสนาดั้งเดิมคือศาสนาพราหมณ์กำลังเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นเจ้าชายสิทธัตถะรวามทั้งพระราชบิดา พระราชมารดาและพระประยูรญาติทั้งหลายต่างก็นับถือศาสนาพราหมณ์ทั้งนั้น และยังมีศาสนาหนึ่งที่เกิดร่วมสมัยของพุทธศาสนา คือ ศาสนาเชน แต่ในพุทธประวัติไม่ค่อยกล่าวถึง
เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารกรุงกบิลพัสดุ์ ได้พบความไม่เป็นแก่นสารของโลกและชีวิต จึงเสด็จออกผนวชแสวงหาโมกขธรรม ใช้เวลาทดลองพิสูจน์ตามลัทธิต่างๆอยู่นานถึง 6 ปี แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นว่ามิใช่ทางพ้นทุกข์ จึงทรงละเว้นทางเหล่านั้นเสียกลับมาใช้การค้นคว้า ในทางของพระองค์เอง และในที่สุดก็ได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ณ วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศก 45 ปี

ศาสดา พระพุทธเจ้าทรงถือกำเนิดจากพระเจ้าสุทโธทนะเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ และพระนางเจ้ามายา โดยทรงประสูติในวันศุกร์ เพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน 6 ราวเดือนพฤษภาคม) ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เวลาสาย ใกล้เที่ยง และประสูติที่สวนลุมพินีวัน พระเจ้าสุทโธทนะได้เชิญพราหมณ์ มาฉันโภชนาหาร พราหมณ์ได้ถวายคำพยากรณ์เป็น 2 นัย คือ ถ้าพระกุมารทรงอยู่ครองเพศฆราวาสจักได้เป็นพระจักรพรรดิยิ่งใหญ่ในโลก และถ้าพระราชโอรสออกผนวชจักได้เป็นพระศาสดาเอกของโลก หลังจากนั้นพราหมณ์ทั้งหลายได้ร่วมกันถวายพระนามพระกุมารว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า ผู้ต้องการความสำเร็จ
เมื่อพระกุมารเจริญวัย มีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา หลังจากอภิเษกสมรสได้ 13 พรรษา พระนางยโสธรามีครรภ์และประสูติพระโอรสทรงพระนามว่า "ราหุล" เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ 29 พรรษา
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาในคืนที่พระโอรสประสูติ ทรงแสวงหาโมกขธรรม โดยการศึกษาในสำนักดาบส แต่ก็ไม่พบหนทางในการดับทุกข์ จึงออกจากสำนักดาบส แล้วจึงเริ่มบำเพ็ญทุกรกิริยา จนร่างกายซูบผอม ก็ทรงเลิก เนื่องจากไม่ใช่หนทางในการตรัสรู้ จึงทรงใช้วิธีการบำเพ็ญเพียรทางจิต จนในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก็ตรัสรู้ เป็นองค์พระพุทธเจ้า ภายหลังที่เสด็จออกบรรพชา และทรงทำความพากเพียรพยายามมาตลอดเวลา 6 ปี มีพระชนม์ 35 พรรษา
หลังจากตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ทรงเผยแผ่ศาสนา โปรดประชาชน พระประยูรญาติ แสดงธรรมโปรดพระสงฆ์ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจตลอด 45 พรรษา พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา

คัมภีร์ คัมภีร์ศาสนาพุทธ เรียกว่า "พระไตรปิฎก" แปลว่า 3 คัมภีร์ คำว่าปิฎก แปลว่า ตะกร้าหรือกระจาด ปิฎกทั้ง 3 แบ่งออกได้เป็น
1. วินัยปิฎก คัมภีร์ว่าด้วย วินัย คือศีลของพระภิกษุ ภิกษุณี มีรายละเอียดในการบัญญัติแต่ละครั้งมาก นอกจากนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติ และวิธีดำเนินการในการบริหารคณะสงฆ์โดยพิศดาร
2. สุตตันตปิฎก คัมภีร์ว่าด้วยพระสูตร คือคำเทศนาสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และสาวก มีเรื่องราวประกอบมาก รวมทั้งรายละเอียดแห่งการที่จะทรงโต้ตอบกับนักบวชแห่งศาสนาอื่น และผู้ที่มาซักถาม มีการกล่าวถึงภูมิประเทศ เหตุการณ์ บุคคล และวันเวลา คือกล่าวถึงว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ไว้อย่างครบถ้วน พลอยทำให้ได้ประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียด้วย
3. อภิธรรมปิฎก คัมภีร์ว่าด้วย อภิธรรม กล่าวถึงธรรมะล้วนๆ ของพระพุทธองค์ ไม่กล่าวถึงเหตุการณืและสิ่งที่มาเกี่ยวข้องเหมือนสุตตันตปิฎก

หลักธรรมพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีหลักธรรมคำสอนมากมายและละเอียดทุกแง่ทุกมุม จึงขอสรุปหลักธรรมเฉพาะที่นับว่าสำคัญจริงๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. โอวาทปาฏิโมกข์ มีใจความสำคัญ ดังนี้
1. ให้เว้นจากความชั่วทั้งหมด
2. ให้สร้างความดีสม่ำเสมอ
3. ให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์
2. อริยสัจ 4 คือ ธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ทุกข์ หมายถึง ความทุกข์ทั้งสิ้น
2. สมุทัย เหตุให้เิกิดทุกข์
3. นิโรธ ความดับทุกข์
4. มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์
3. ปฏิจจสมุปบาท ปัจจัยแห่งกันและกัน มี 12 องค์ประกอบ ดังนี้
1. อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร
2. สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
3. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
4. นามรูป เป็นปัจจัยให่เกิดสฬายตนะ
5. สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ
6. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา
7. เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา
8. ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
9. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ
10. ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ
11. ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ โกสะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
12. ชรามรณะ
4. นิพพาน เป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ นิพพาน หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลส ถ้ากิเลสดับสนิทในขณะมีชีวิตอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน แต่ท่านที่ดับกิเลสสิ้นลม เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน
5. ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ 3 หมายถึง กฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง กฎนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สามัญลักษณะ คือ เป็นลักษณะทั่วไป" มีอยู่ 3 ประการ ดังนี้
1. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง คือ ไม่คงที่ ไม่ถาวร ไม่แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
2. ทุกขตา ความเป็นทุกข์ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงจึงทนได้ยาก ทำให้เกิดทุกข์
3. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน คือบังคับไม่ให้ ไม่อยู่ในอำนาจ เป็นสิ่งสมมติ ไม่ใช่ของตนแท้จริง

นิกาย ในพระพุทธศาสนามีนิกายแบ่งย่อยออกเป็น 2 นิกายใหญ่ ซึ่งเกิดจากการตีความพุทธพจน์แตกต่างกันตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนา คือ
1. นิกายเถรวาท หรือหินยาน เป็นนิกายดั้งเดิม ยึดถือหลักพระธรรมวินัยตามที่พระมหากัสสปเถระ เป็นต้น ได้สังคายนาไว้เมื่อพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เจริญอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ได้แพร่หลายไปยังประเทศเอเชียใต้ เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว และเขมร เป็นต้น บางครั้งเรียกนิกายฝ่ายใต้
2. มหายานหรืออาจาริยวาท เป็นนิกายที่แยกออกมาใหม่ ยึดถือหลักธรรมตามการตีความใหม่และการปฏิบัติของอาจารย์ของตน เจริญอยู่ตอนเหนือของอินเดีย ได้แพร่เข้าไปสู่ประเทศธิเบต จีน เกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น เป็นต้น บางครั้งเรียกนิกายฝ่ายเหนือ
พิธีกรรม
ในพระพุทธศาสนามีพิธีกรรมอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. พิธีกรรมเกี่ยวกับงานมงคล เช่น เกี่ยวกับการเกิด การโกนผมไฟ การบวช การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การทำบุญวันเกิด และการทำบุญอันเพื่อมงคลอื่นๆ ในเทศกาลตรุษต่างๆ เป็นต้น
2. พิธีกรรมเกี่ยวกับงานอวมงคล เช่น งานตายและงานเนื่องด้วยผู้ตาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาจแยกให้เห็นพิธีกรรมเหล่านี้ได้ดังนี้
1. พิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ
2. พิธีถืออุโบสถศีล
3. พิธีบรรพชา - อุปสมบท
4. พิธีทอดกฐิน
5. พิธีทอดผ้าป่า
6. พิธีวิสาขบูชา
7. พิธีอัฏฐมีบูชา
8. พิธีอาสาฬหบูชา
9. พิธีเข้าพรรษา - ออกพรรษา
10. ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย เป็นต้น

สัญลักษณ์
สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนามีหลายอย่าง แต่มีสัญลักษณ์ที่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป มีดังนี้ 1. ธรรมจักร หมายถึง วงล้อแห่งพระธรรม ธรรมจักรใช้แทนหลักธรรม คือ มรรค 8 คือ อริยสัจข้อที่ 4 ซึ่งเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ธรรมจักรมี 8 กำ ได้รับการรับรองให้เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศษสนาระดับชาติ และธงทางพุทธศาสนา 6 สี (ฉัพพรรณรังสี) ซึ่งใช้อยู่ในประเทศศรีลังกาในขณะนี้ ได้รับการให้ใช้เป็นธงแห่งพุทธศาสนาระดับชาติ แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทย นิยมใช้ธงธรรมจักรพื้นสีเหลืองมากกว่า
2. พระพุทธรูป พระพุทธรูปนิยมสร้างขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ไว้เคารพบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหมือนสิ่งแทนคล้ายอนุสาวรีย์ ทำให้ผู้พบเห็นน้อมระลึกถึงพระคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาธิคุณของพระพุทธองค์
3. รอยพระพุทธบาท ในสมัยที่ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป ชาวพุทธนิยมสร้างรอยพระพุทธบาทซึ่งแทนทั้งองค์พระพุทธเจ้า และร่องรอยแห่งความดีที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้เป็นแบบอย่าง
4. ใบโพธิหรือต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าทรงอาศัยร่มเงาในระหว่างเวลาที่ทรงบำเพ็ญเพียร และได้ตรัสรู้อริยสัจธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ศาสนาพุทธแบบสรุปเข้าใจง่าย

๑. กำเนิด

พุทธศาสนากำเนิดขึ้น ณ ประเทศ อินเดียเมื่อประมาณก่อนคริสต์ศาสนาประมาณ ๕๔๓ ปี เกิดขึ้นในยุคที่กำลังมีการค้นคว้ากาวิธีการดับทุกข์กันอยู่ทั่วไป โดยผู้คนในยุคนั้นจะนับถือศาสนาพราหมณ์กันอยู่โดยมาก

๒. สิ่งเคารพสูงสุด

พุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภท อเทวนิยม คือไม่ยอมรับว่ามีเทพเจ้าใดๆว่ามีอำนาจสูงสุด แต่จะยอมรับกฎธรรมชาติ(ธรรมะ หรือธรรม) ว่าเป็นสิ่งสูงสุดที่มีลักษณะคล้ายกับพระเจ้าของศาสนาประเภทเทวนิยม

๓. ศาสดา

ศาสดาคือพระพุทธเจ้า ซึ่งเดิมคือเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ออกบวชค้นหาความจริงจนกระทั่งได้ค้นพบความจริงของธรรมชาติในเรื่องการดับทุกข์ของจิตใจตามหลักเหตุผล(หรือตามหลักวิทยาศาสตร์)ได้อย่างถาวร

๔. คัมภีร์

คือพระไตรปิฎก อันประกอบด้วย

๑. พระวินัย ซึ่งรวบรวมเรื่องศีลของภิกษุและภิกษุณีเอาไว้ทั้งหมด

๒. พระสูตร ซึ่งรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวกเอาไว้

๓. พระอภิธรรม ซึ่งรวบรวมหลักปรัชญาที่พระสาวกรุ่นหลังๆแต่งขึ้นไว้

๕. สรุปหลักคำสอน

คำสอนของพุทธศาสนานั้นก็มีอยู่ ๒ ระดับคือ

๑. ระดับชาวบ้านซึ่งมีหลักการอยู่มากมายซึ่งสรุปอยู่ที่การมีศีล มีเมตตา มีความขยันอดทนและรู้จักใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

๒. ระดับสูงซึ่งได้แก่หลักอริยสัจ ๔ อันเป็นหลักในการดับทุกข์และจัดเป็นหัวใจของคำสอนทั้งหมด ซึ่งสรุปอยู่ที่การทำจิตให้ว่างจากกิเลสทั้งปวง โดยมีศีลเป็นพื้นฐาน รวมทั้งมีสมาธิเป็นกำลังและมีปัญญาเป็นตัวควบคุม.

๖. จุดหมายสูงสุด

จุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา คือ "นิพพาน" หรือความไม่มีทุกข์อย่างถาวรในชีวิตปัจจุบันซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุด ส่วนจุดหมายรองลงมาคือการมีชีวิตอยู่โดยให้มีความทุกข์น้อยที่สุด.

๗. ความเชื่อและหลักปฏิบัติ

พุทธศาสนาสอนว่าทุกสิ่งเป็นไปตามธรรมชาติ(หรือธรรมดา)ของมันเอง คือเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย(ปัจจัยคือเหตุย่อยๆ)ที่ผลักดันกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีตัวตนหรือผู้ใดมาดลบันดาล ดังนั้นการปฏิบัติก็คือการปฏิบัติหน้าที่ของตนๆให้ถูกต้องตามที่ธรรมชาติกำหนดมา อย่ามีความเห็นแก่ตัว จงเห็นแก่ผู้อื่น หรือเห็นแก่ธรรมชาติ

๘. นิกาย

ปัจจุบันมีอยู่ ๒ นิกายใหญ่ๆคือ

๑. มหายาน หรืออาจาริยวาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงคำสอนเดิมจนหาหลักเดิมได้ยาก

๒. หีนหาย หรือเถรวาท ซึ่งยึดถือพระไตรปิฎกดั้งเดิมมาปฏิบัติ

๙. ประเทศที่นับถือ

นิกายมหายานก็มีประเทศจีน, ไต้หวัน, เวียดนาม ส่วนเถรวาทก็มีประเทศ ศรีลังกา, พม่า, ลาว, กัมพูชา , ไทย และมีประปรายในประเทศต่างๆทั่วโลก

๑๐. ประเพณี

ดั้งเดิมนั้นไม่มีแต่ภายหลังเกิดมีขึ้นเช่น ประเพณีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และการทำบุญตามวันสำคัญทางศาสนา

๑๑. ผู้สืบทอด

ได้แก่พระภิกษุ (นักบวชชาย) ที่ถือศีล ๒๒๗ ข้อ รวมทั้งมีสามเณร ถือศีล ๑๐ แต่ก่อนมีภิกษุณี (นักบวชหญิง) ถือศีล ๓๑๐ ข้อ ซึ่งปัจจุบันทางนิกายเถรวาทถือว่าภิกษุณีได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ทางมหายานถือว่ายังมีอยู่ รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกา ที่เรียกรวมๆว่า พุทธบริษัท ๔

๑๒. วันสำคัญทางศาสนา

วันสำคัญทางศาสนาก็มีอยู่ ๔ วันคือ

๑. วันวิสาขบูชา อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

๒. วันอาฬาสหบูชา อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก.

๓. วันมาฆบูชา อันเป็นวันที่พระอรหันต์จำนวนมากมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย.

๔. วันอัฐมีบูชา อันเป็นวันถวายประเพลิงพระสรีระพระพุทธเจ้า.

๑๓. สถานที่สำคัญ

ได้แก่สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ, ตรัสรู้, แสดงปฐมเทศนา, และปรินิพพาน.
พุทธศาสดา - การ์ตูนพุทธประวัติ(Animation)
การ์ตูนที่ให้นั้นเป็นฉบับเต็มสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านชอบดูมากกว่าคะ
cr.https://sites.google.com/site/yamyeecnk/3-neuxha-bth-reiyn/neuxha-thi3

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม