ศาสนาซิกข์ (Sikhism)

ศาสนาซิกข์ (Sikhism)


ประวัติความเป็นมา 

ศาสนาสิกข์เป็นศาสนาประเภทเทวนิยม คือเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก มีอำนาจยิ่งใหญ่และมีองค์เดียว จึงนับว่าเป็นศาสนาประเภทเอกนิยม (Monotheism) และเป็นศาสนาที่มีอายุน้อยที่สุดในศาสนาของโลกทั้งสิบเอ็ดศาสนา
คำว่า "สิกข์" เป็นภาษาปัญจาบ แปลว่า ผู้ศึกษา หรือศิษย์ คือชาวสิกข์ทุกคนเป็นศิษย์ของคุรุหรือครู มีด้วยกันทั้งสิ้น 10 องค์ มีคุรุนานักเป็นองค์แรก คุรุโควินทสิงห์เป็นองค์สุดท้าย ชาวสิกข์ทุกคนต้องทำพิธี "ปาหุล" คือพิธีล้างบาป เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะรับเอา "กะ" คือสิ่งที่เริ่มต้นด้วยอักษร "ก" 5 ประการ ดังต่อไปนี้
1. เกศ การไว้ผมยาวโดยไม่ตัดเลย
2. กังฆา หวีขนาดเล็ก
3. กฉา กางเกงขาสั้น
4. กรา กำไลมือทำด้วยเหล็ก
5. กิรปาน ดาบ
ผู้ที่ทำพิธีปาหุลแล้วจะได้นามว่า "สิงห์" แปลว่า สิงโต หรือ ราชสีห์ ต่อท้ายเหมือนกันทุกคน ถือว่าผ่านความเป็นสมบัติของพระเจ้าแล้ว ถ้าเป็นหญิงจะมีคำว่า "กอร์" (ผู้กล้า) ต่อท้ายชื่อ
การทำพิธีล้างบาปและรับอักษร 5 ก. เพื่อเป็นชาวสิกข์โดยสมบูรณ์นั้น มีขึ้นในภายหลัง คือในสมัยของคุรุโควินทสิงห์ ซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาสิกข์
ศาสนาสิกข์ เป็นศาสนาของชาวอินเดีย แคว้นปัญจาบและบริเวณใกล้เคียง ทุกคนที่นับถือสิกข์ ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นพี่น้องกันโดยศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวสิกข์นิยมเรียกพระเจ้าว่า "พระนาม" (The Name) โดยมีคำสอนสรรเสริญพระพุทธคุณของพระเจ้าว่าเป็นผู้ฉลาด มีพระกรุณา มีพระหฤทัยเผื่อแผ่
ศาสดา

ศาสดา หรือ คุรุ แห่งศาสนาสิกข์มี 10 ท่าน ต่อจากนั้นศาสดาองค์ที่ 10 ได้ประกาศให้ถือพระคัมภีร์เป็นศาสดาแทน และไม่มีการแต่งตั้งศาสดาต่อไปอีก (นิกายนามธารีถือว่ายังมีศาสดาต่อไปได้อีกจนบัดนี้ รวม 16 องค์แล้ว) ศาสดาทั้ง 10 ท่าน ได้แก่
1. คุรุนานัก
2. คุรุอังคัต
3. คุรุอมรทาส
4. คุรุรามดาส
5. คุรุอรชุน
6. คุรุหริโควินท์
7. คุรุหริไร
8. คุรุหริกิษัน
9. คุรุเตฆพหทูร์
10. คุรุโควินทสิงห์

คัมภีร์

คัมภีร์ของศาสนาสิกข์ เรียกว่า "ครันถสาหิพ" แปลว่า พระคัมภีร์ ส่วนใหญ่บรรจุคำสวดมนต์สรรเสริญพระเจ้า มีพระเจ้าเพียงองค์เดียว คือ สัจจะ พระผู้สร้าง พระองค์ปราศจากความกลัว ความเคียดแค้น เป็นอมฤตไม่เกิด มีขึ้นด้วยพระองค์เอง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ทรงโอบอ้อมอารี พระผู้เป็นสัจจะมีอยู่แล้ว
คัมภีร์ครันถสาหิพนี้ แบ่งออกเป็น 2 เล่ม ดังนี้
1. อาทิครันถ์ แปลว่า คัมภีร์แรก คุรุอรชุน เป็นผู้รวมขึ้นใน ค.ศ. 1604 หรือ พ.ศ. 2147 มีบทนิพนธ์ของคุรุ หรือศาสดาตั้งแต่องค์ที่ 1 ถึงองค์ที่ 5 และมีบทประพันธ์ของนักบุญผู้มีชื่อแห่งศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลามผนวกอยู่ด้วย
2. ทสมครันถ์ แปลว่า คัมภีร์ของศาสดาองค์ที่ 10 เป็นชุมนุมบทนิพนธ์ของศาสดาองค์ที่ 10 คือ คุรุโควินทสิงห์ รวบรวมขึ้นในสมัยหลังจากอาทิครันถ์ ประมาณ 100 ปี ทั้ง 2 คัมภีร์บันทึกคำสอนของคุรุสำคัญสรุปลงในหลักการใหญ่ 4 ประการ คือ
1. เรื่องความสามัคคี
2. เรื่องความเสมอภาค
3. เรื่องความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
4. ความจงรักภักดีต่อคุรุทั้ง 10 องค์
สองหลักแรกแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น และระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ส่วน 2 หลักหลัง แสดงทางปฏิบัติอันมนุษย์จะพึงปฏิบัติตามเพื่อบรรลุความสุขสูงสุด

หลักธรรม

คุรุนานัก ปฐมศาสดาของศาสนาสิกข์ได้ประพันธ์บทสวดยัปยี ซึ่งเป็นบทแรกในคัมภีร์ครันถสาหิพ แสดงถึงการที่บุคคลจะก้าวไปสู่สุขอันเป็นนิรันดร หรือนิรวาณ มีอยู่ 5 ขั้น ดังนี้
1. ธรรมขัณฑ์ อาณาจักรแห่งการกระทำคือ กรรมดี และกรรมชั่ว การทำแต่กรรมดี
2. คิอานขัณฑ์ หรือ ญาณขัณฑ์ อาณาจักรแห่งปัญญา
3. สรมขัณฑ์ อาณาจักรแห่งมหาปิติ
4. กรรมขัณฑ์ อาณาจักรแห่งกำลัง หมายถึงกำลังทางจิตไม่หวาดกลัว
5. สัจขัณฑ์ อาณาจักรแห่งสัจจะ คือความเป็นเอกภาพกับพระเจ้า
วิธีปฏิบัติเพื่อสร้างจริตอัธยาศัย เพื่อให้บรรลุสัจธรรมชั้นสูงนั้น คือการสวดเพลงสรรเสริญพระนาม กับการฟังพระธรรม ดังข้อความในพระคัมภีร์ว่า โดยการฟังพระธรรม บุคคลย่อมเป็นประหนึ่ง พระศิวะ หรือ พระพรหม โดยการฟังพระนาม บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ความสันโดษ และทิพยปัญญา

นิกาย
นิกายของศาสนาสิกข์ที่สำคัญมีอยู่ 2 นิกาย ดังนี้

1. นิกายขาลสา หรือนิกายสิงห์ ได้แก่ นิกายที่ถือการไว้ผมและไว้หนวดยาว
2. นิกายสหัชธรี หรือนานักปันถี ได้แก่ นิกายที่โกนหนวดเกลี้ยงเกลา

พิธีกรรม
ในศาสนาสิกข์มีพิธีกรรมสำคัญ 2 ประการ คือ

1. พิธีกรรมระลึกถึงพระกรตาปุรุษ โดยการตื่นแต่ก่อนรุ่งสาง อาบน้ำชำระกายแล้วเข้าสมาธิเพื่อทบทวนการปฏิบัติตามเทวโองการของพระองค์ในแต่ละวัน วันละ 3 เวลา เช้า เย็น และกลางคืน
2. พิธีกรรมฉลองวันคล้ายวันประสูติ วันสถาปนาศาสนา และวันมรณภาพของศาสดาทั้ง 10 องค์

สัญลักษณ์

ปัจจุบันศาสนาสิกข์นิยมสัญลักษณ์ คือ รูปดาบไขว้และมีดาบสองคม หรือพระขรรค์อยู่ตรงกลางแล้วมีวงกลมกับพระขันธ์นั้นอีกต่อหนึ่ง วงกลมนั้นมิได้ทำเป็นรูปจักร แต่ทำเ็ป็นเส้นกลมธรรมดา นอกจากนี้แล้วยังมีรูปกาน้ำและดาบซึ่งหมายถึงการรับใช้และพลัง รวมทั้งอักษร ก ทั้ง 5 ด้วย

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม